ตำนานที่ยังหายใจ “ ANDERSON THE SPIDER SILVA ”

ในวงการกีฬาที่เกี่ยวกับการต่อสู้การที่จะขึ้นมาเป็นแชมป์หรือเป็นอันดับหนึ่งนั้นยากแสนยาก ต้องผ่านเส้นทางอันแสนลำบากกว่าจะก้าวขึ้นมาได้ และพอก้าวขึ้นมาได้แล้วยังต้องป้องกันหรือรักษามันไว้ให้ได้อีกซึ่งยากลำบากว่าเป็นสองเท่า ดังคำกล่าวที่ว่า “การจะเป็นแชมป์นั้นว่ายากแล้ว แต่การจะรักษาแชมป์นั้นยากกว่า ” ยิ่งในวงการ MMA นั้นแชมป์ถือว่าเปลี่ยนมือบ่อยมาก บางคนต้องต่อสู้มาอย่างยากลำบากจนสามารถคว้าแชมป์มาครองไว้ได้แต่ก็ต้องเสียแชมป์ไปในการป้องกันแชมป์ครั้งแรกเท่านั้น แต่มีชายผู้หนึ่งที่สามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้อย่างยาวนานและสามารถทำลายสถิติต่าง ๆ นานาใน UFC ได้ ก็คือไอ้แมงมุมจากบราซิลที่ไม่ว่าจะเจอใครหน้าไหนก็สามารถเอาชนะได้หมด

จะมีนักกีฬา MMA สักกี่คนบนโลกที่จะป้องกันรักษาเข็มขัดแชมป์ไว้ได้อย่างยาวนานเท่าเขาคนนี้ “ Anderson Silva ” เขาเกิดที่เมือง Sao Paulo ในประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1975 เขาชื่นชอบและหลงรักศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่วัยเด็ก เคยเรียนและฝึกฝนมวยไทยจนลงแข่งขันที่ประเทศบราซิล เรียน Brazilian Jiu-Jitsu จนได้สายดำ และเรียนเทควันโดจนได้สายดำเช่นกัน ถือว่าเป็นนักกีฬา MMA ที่มีความสามารถหลากหลาย ไอ้แมงมุมมืดจากบราซิลผู้นี้เข้าโจมตีคู่ต่อสู้อย่างไร้ปราณีด้วยเทคนิคที่สุดแสนจะแพรวพราว และท่าโจมตีในแบบฉบับมวยไทยอย่างจระเข้ฟาดหางหรือจะเป็นท่าหมุนตัวเตะในแบบฉบับเทควันโด ไม่ว่าจะเป็นความเหนียวหนึบอย่างแมงมุมเมื่อได้ขึ้นคร่อมคู่ต่อสู้หรือการนอนสู้ในแบบฉบับ Brazilian Jiu-Jitsu ก็ตาม ในปี ค.ศ. 2006 เขาสามารถคว้าเข็มขัดแชมป์รุ่น Middleweight มาครองได้และทำสถิติที่ยากจะมีคนมาทำลายด้วยการครองแชมป์ยาวนานถึง 2,457 วัน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 – 2013 และยังพ่วงสถิติชนะติดต่อกัน 16 ไฟต์รวด ในตอนนั้นไม่ว่าใครหน้าไหนถ้าต้องมาเจอกับ Anderson ก็ต้องแพ้พ่ายไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีฝีมือสุดยอดในการยืนสู้อย่าง Rich Franklin หรือจะเป็นเจ้าพ่อท่านอนอย่าง Forrest Griffin ก็ยอมศิโรราบให้ไอ้แมงมุมผู้นี้ ทั้งหมดที่เขาทำมันถือว่าเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับนักกีฬา MMA คนหนึ่งจะทำได้ เขาคือสุดยอดนักสู้ในกรงเหล็กอย่างแท้จริง คือตำนานอีกบทหนึ่งของวงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน

ตั้งแต่ที่ Anderson Silva เสียเข็มขัดแชมป์ให้กับ Chris Weidman ฟอร์มการต่อสู้และพละกำลังความแข็งแกร่งก็หดหายไปมาก อาจจะเพราะอายุที่แก่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความเร็ว ไหวพริบ หรือสภาพร่างกายแย่ลงไปด้วย ก็มีชนะบ้างแพ้บ้างไม่ได้หวือหวาเหมือนสมัยที่เขาเป็นแชมป์ แต่ด้วยความรักในกีฬาชนิดนี้ Anderson ยังคงต่อสู้ในศึกของ UFC อยู่ในขณะนี้ เขาได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้นักสู้รุ่นใหม่มากมาย เป็นครูเป็นอาจารย์ที่คนในวงการเคารพนับถือ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กีฬา MMA เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

สังเวียน MMA แห่งเอเชีย ONE CHAMPIONSHIP

ถ้ากล่าวถึง MMA ในภูมิภาคเอเชียเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ก็คงจะไม่ค่อยมีใครรู้จักหรือได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ถ้าเปรียบเทียบกับทวีปทางตะวันตกอย่าง อเมริกา และ ยุโรป แต่ทุกวันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะปัจจุบันนี้กีฬา MMA ได้รับความนิยมมากในทวีปเอเชียและประเทศไทยเราเอง ด้วยพื้นฐานของทวีปเอเชียที่มีนักสู้หรือนักกีฬาต่อสู้มากมายหลายแขนงอย่างเช่น นักมวยไทย นักเทควันโด นักคาราเต้ เป็นต้น เมื่อมีการจัดการแข่งขัน MMA ขึ้นในทวีปเอเชียก็แน่นอนว่าย่อมมีนักสู้มากมายให้ความสนใจไม่น้อย

One Championship คือสมาคมศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เริ่มก่อตั้งและเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 ถือได้ว่าเป็นสมาคมศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดแล้วในทวีปเอเชีย ในสมัยแรก ๆ ที่เริ่มเปิดตัวและจัดการแข่งขัน One Championship เป็นเพียงแค่ม้านอกสายตาไม่มีใครให้ความสนใจ ไม่มีคนรู้จัก เพราะคนในวงการศิลปะการต่อสู้เอเชียให้ความสนใจกับการแข่งขัน มวยไทย , Kick Boxing , K-1 มากกว่า เนื่องจากมีการจัดการแข่งขันกันมานานนับสิบปีและมีซุปเปอร์สตาร์ในวงการต่อสู้มากมาย ในตอนนั้น One Championship จึงเป็นแค่สมาคมเล็ก ๆ ที่มีนักสู้เพียงไม่กี่รุ่นและคนดูแค่ไม่กี่คน แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเนื่องด้วยความนิยมของกีฬา MMA แพร่ขยายไปทั่วโลกและ One Championship เองก็ได้ปลุกปั้นสร้างนักสู้เก่ง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ben Askren อดีตแชมป์โลกในรุ่น Welterweight ที่ตอนนี้ย้ายไปสู้ให้กับ UFC แล้ว หรือว่าจะเป็น Martin Nguyen แชมป์โลกลูกครึ่ง เวียดนาม – ออสเตรเลีย และอดีตแชมป์ชาวไทยอย่าง ครูรงค์ เดชดำรงค์ ส.อำนวยศิริโชค ที่สามารถคว้าแชมป์โลกมาอยู่ในประเทศไทยได้เป็นคนแรก ทำให้กระแสของกีฬา MMA เป็นที่นิยมและพูดถึงกันมากในประเทศไทยและต่อมาได้มีนักสู้ชาวไทยอีกมายฝึกฝนและเรียนรู้กีฬาชนิดนี้เพื่อจะเข้าไปต่อสู้และคว้าแชมป์มาให้ได้ ทำให้ One Championship กลายเป็นสมาคมศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ได้รับความนิยมและยิ่งใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย มีการเพิ่มรุ่นการแข่งขันขึ้นมาอีกมากมาย มีการออกไปจัดการแข่งขันในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียและมาจัดการแข่งขันในประเทศไทยอยู่หลายครั้ง ฐานคนดูหรือแฟน ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และปัจจุบัน One Championship ไม่มีแค่นักสู้หรือคนดูจากทวีปเอเชียเพียงอย่างเดียว มีนักสู้และแฟน ๆ จากทวีปอื่นมากมายที่สนใจและต้องการมาต่อสู้ในศึกนี้

 ศึก One Championship ได้กลายมาเป็นสังเวียนอันดับหนึ่งของนักสู้ในทวีปเอเชีย การเปิดกว้างของวงการกีฬา MMA ที่ไม่ได้จัดการแข่งขันแค่ในทวีป อเมริกา หรือ ยุโรป อีกต่อไป เพราะมันได้แสดงให้เห็นแล้วว่านักสู้เอเชียรูปร่างเล็ก ๆ ก็สามารถต่อสู้ในกรงเหล็กได้เหมือนกัน ที่สำคัญ One Championship ยังช่วยเปิดโอกาสให้กับนักสู้ชาวไทยหรือประเทศอื่น ๆ ที่ด้อยโอกาสในการแสดงความสามารถที่ตนเองมี ได้แสดงถึงศักยภาพที่แท้จริงของคนเอเชียเราให้ทั้งโลกได้เห็น

MMA เริ่มต้นมาจากตรงไหนและเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ในสังคมของโลกยุคปัจจุบันกระแสของการกีฬาและการแข่งขันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร มีกีฬาชนิดใหม่เกิดขึ้นมาไม่น้อยและจางหายไปก็มากเช่นกัน กีฬา Mixed Martial Art เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ถือว่าแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในยุคปัจจุบัน เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วทั้งโลก สังเกตได้จากจำนวนผู้ชมนับหมื่นคนที่เข้ามาชมการแข่งขันในแต่ละศึก ค่าลิขสิทธิ์มหาศาลในการนำไปถ่ายทอดสด ค่าเหนื่อยของนักกีฬาในการต่อสู้แต่ละครั้ง และจำนวนการแชร์คลิปวิดีโอหรือรูปภาพในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นต้น หลายคนอาจคิดว่ากีฬา MMA เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นมาไม่นานก่อนหน้านี้เพราะว่าพึ่งจะรู้จักและได้รับความนิยมในยุคสมัยนี้ แต่จริง ๆ แล้วการต่อสู้โดยใช้ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานมีมานานนับพันปีเลยก็ว่าได้

ในยุคสมัยกรีกโรมันได้มีการจัดแข่งขันการต่อสู้แบบผสมผสานด้วยมือเปล่าอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราว ๆ 600 ปีก่อนคริสตกาลโดยอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เหล่านักสู้ Gladiator ที่หลายคนคงคุ้นหูและเคยได้ยินได้รู้จักกันมาบ้างแล้ว เหล่านักสู้เหล่านั้นได้นำการต่อสู้แบบผสมผสานด้วยมือเปล่าเข้าไปสู้ในสนามต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นอย่าง Colosseum และเรียกชื่อการต่อสู้นั้นว่า Greek Pankration นั่นถือเป็นจุดกำเนิดของการแข่งขันการต่อสู้แบบผสมผสานบนโลกใบนี้ ต่อมาศิลปะการต่อสู้ได้พัฒนาและแตกแขนงออกมามากมายเช่น มวยสากล มวยปล้ำ ยูโด คาราเต้ มวยไทย และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยการต่อสู้แต่ละแขนงก็มีกฎและกติกาที่แตกต่างกันออกไปทำให้ศิลปะการต่อสู้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง นักกีฬามวยสากลจะมาแข่งขันต่อสู้กับนักกีฬามวยไทยไม่ได้เพราะกฎและกติกาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งและการฝึกฝนของนักกีฬาที่แตกต่างกันออกไป แต่ในช่วงยุค 90s หรือราว ๆ ปี ค.ศ. 1990-2000 ได้มีการคิดริเริ่มการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานขึ้นมาอีกครั้งโดยให้ชื่อเรียกว่า MMA หรือ Mixed Martial Art อย่างที่เราเรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ มันคือการรวมเอาศิลปะการต่อสู้เกือบทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกในขณะนั้นเข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการเตะ การต่อย กอดรัดฟัดเหวี่ยง หรือการทำให้ยอมแพ้ ในปี ค.ศ. 1993 ได้มีการจัดการแข่งขัน MMA ขึ้นและถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า Ultimate Fighting Championship หรือ UFC ที่เรารู้จักกัน ครั้งนั้นถือว่าเป็นการกำเนิดสมาคมศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานขึ้นอย่างเป็นทางการและถ่ายทอดกีฬาชนิดนี้ออกไปในวงกว้างมากขึ้น

ในอดีตยุคสมัยที่กีฬา MMA เพิ่งเริ่มต้น กีฬาชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมและการยอมรับมากเท่าไหร่เนื่องจากผู้คนทั่วไปมองว่าเป็นกีฬาที่ป่าเถื่อน รุนแรง และอันตราย อาจเป็นเพราะกฎกติกาที่ไม่มีอะไรมากนัก แต่ปัจจุบันนี้กีฬา MMA ปรับเปลี่ยนกฎและกติกาให้เหมาะสมและจำกัดท่าโจมตีที่เป็นอันตรายต่อนักกีฬา มีกรรมการที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษ มีทีมแพทย์และการปฐมพยาบาลอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงการกีฬาในสังคมปัจจุบันมากขึ้นจนได้รับการยอมรับและความนิยมมากมายอย่างเช่นทุกวันนี้